ปัจจัยความเสี่ยงต่อไปนี้ เป็นเพียงปัจจัยความเสี่ยงสำคัญบางประการที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อบริษัท ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการลงทุนของผู้ลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ อาจมีปัจจัยความเสี่ยงอื่น ๆ ที่บริษัทยังไม่สามารถทราบได้ในปัจจุบันและอาจมีปัจจัยความเสี่ยงบางประการที่บริษัทเห็นว่าไม่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งปัจจัย ความเสี่ยงเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทในอนาคตได้

1
ความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ
  1. ความเสี่ยงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ภาครัฐ

    ปัจจุบันธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องกรองน้ำของบริษัทยังไม่ได้เป็นธุรกิจที่ถูกควบคุมโดยตรงจากหน่วยงานภาครัฐ อย่างไรก็ตามมีหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัททางอ้อม กล่าวคือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ทำหน้าที่ดูแลมิให้บริษัทที่ประกอบธุรกิจเช่าซื้อเอาเปรียบผู้บริโภค และ สคบ.ควบคุมการขายตรง โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการขายตรงต้องมีใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจโดยเฉพาะ ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นผู้ดูแลการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานซึ่งบริษัทถือเป็นนโยบายหลักที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตามบริษัทมีความเสี่ยงในกรณีที่หน่วยงานภาครัฐอาจบังคับใช้กฎระเบียบเพิ่มเติมที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ ดังนั้นบริษัทจึงได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับแนวทางที่ทางราชการกำหนดในปัจจุบัน พร้อมกับติดตามข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องดังกล่าวตลอดเวลา เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงให้การดำเนินงานของบริษัทสอดคล้องกับกฎระเบียบของภาครัฐต่อไป

  2. ความเสี่ยงจากการจำหน่ายผ่านช่องทางขายตรงเป็นหลัก

    บริษัทจำหน่ายสินค้าเครื่องกรองน้ำผ่านช่องทางการขายตรงชั้นเดียว (Single Level Direct Sales) เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมุ่งเน้นการขายสินค้าโดยทีมงาน ที่มีประสบการณ์ในการขายผ่านช่องทางการขายตรงชั้นเดียวมาอย่างยาวนาน บริษัทมีความเชื่อมั่นว่าการขายผ่านช่องทางดังกล่าวนี้เป็นช่องทางที่เหมาะสม เนื่องจากผลิตภัณฑ์เครื่องกรองน้ำจำเป็นต้องอาศัยการอธิบายรายละเอียดด้านเทคนิคและคุณสมบัติโดยพนักงานขาย สาธิตการใช้งานสินค้าให้ลูกค้าเห็นได้อย่างชัดเจน เพื่อแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ โดยพนักงานที่มีทักษะการขายที่โดดเด่นอาจถูกดึงตัวไปเป็นพนักงานหรือตัวแทนขายของผู้ประกอบการรายอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าได้ บริษัทจึงมีนโยบายให้ความสำคัญแก่พนักงานขาย โดยเสนอค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสมแก่กลุ่มพนักงานขายดังกล่าว และบริษัทได้จัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการขายแก่พนักงานขายของบริษัทและเพื่อเสริมประสิทธิภาพของทีมงานขายอย่างสม่ำเสมอ

    อย่างไรก็ตาม บริษัทได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการจำหน่ายผ่านช่องทางการขายตรงชั้นเดียว จึงได้พยายามเพิ่มช่องทางการขายในรูปแบบอื่น ๆ นอกเหนือจากช่องทางขายตรงดังกล่าว เพื่อให้ครอบคลุมลูกค้ากลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น เช่น การจำหน่ายสินค้าในโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) การจำหน่ายสินค้าผ่านทางโทรศัพท์ (Telesales & Telemarketing) ช่องทางอินเตอร์เน็ต (E-commerce) สื่อออนไลน์ เช่น Facebook, Line, Lazada และอื่น ๆ รวมถึงการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้าเพื่อให้สามารถนำเสนอสินค้าและบริการให้เข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการขายอื่น ๆ อาทิ การผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภท OEM แก่บริษัทขายตรงอื่น แต่ในปลายปี 2562 บริษัทได้มีการพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียของการขายผ่านช่องทาง Modern Trade อย่างรอบคอบแล้ว บริษัทจึงได้ตัดสินใจยุติการขายผ่านทาง HomePro

  3. ความเสี่ยงจากการเปิดเสรีการค้า และการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่อาจส่งผลต่อยอดขาย และต้นทุนการผลิต

    การเปิดเสรีการค้า และการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 ซึ่งเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน (ASEAN) 10 ประเทศ จะส่งผลให้มีการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายทรัพยากรเงินทุน แรงงาน และการค้าขายระหว่างกันในตลาดอาเซียน อาจจะทำให้มีสินค้าจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ เข้ามาแข่งขันในไทยมากขึ้น บริษัทจึงขยายช่องทางการจัดจำหน่าย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายมากขึ้นเพื่อตอบสนองและเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้บริษัทได้ขยายตลาดไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV บางประเทศ โดยพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ และความเป็นไปได้ในการทำการตลาด บริษัทได้เริ่มนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายผ่านบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทกับนักธุรกิจไทยในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และจัดจำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่ายในประเทศกัมพูชา พร้อมทั้งกำลังศึกษาที่จะนำสินค้าไปจำหน่ายในประเทศอื่น ๆ ต่อไป

2
ความเสี่ยงเกี่ยวกับการผลิต
  1. ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบ

    กระบวนการผลิตเครื่องกรองน้ำประกอบด้วย ส่วนประกอบและอุปกรณ์ที่หลากหลาย ทั้งในส่วนของตัวเครื่องและชุดสารกรอง ซึ่งส่วนใหญ่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ และบางส่วนต้องพึ่งพาการนำเข้าจากผู้นำเข้ารายใหญ่ โดยราคาวัสดุและอุปกรณ์จะแปรผันตามราคาตลาดและอัตราแลกเปลี่ยนในกรณีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งบริษัทอาจได้รับผลกระทบบางส่วนจากความผันผวนของราคาวัสดุและอุปกรณ์รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งในส่วนนี้บริษัทได้นำเครื่องมือทางการเงินมาใช้ในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดผลกระทบบางส่วนจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

  2. ความเสี่ยงเกี่ยวกับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจ

    โรงงานผลิตเครื่องกรองน้ำของบริษัทแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่สีส้ม ซึ่งเป็นพื้นที่ประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นโดยได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2550 ภายใต้เงื่อนไขว่าใบอนุญาตดังกล่าวอาจ ถูกเพิกถอนได้ หากได้รับการร้องเรียนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือก่อให้เกิดปัญหาแก่ชุมชน สำหรับใบอนุญาตในการประกอบกิจการโรงงานในปี 2562 มีรายละเอียดดังนี้

    • โรงงานที่ 1 บริษัทได้รับใบอนุญาตในการประกอบกิจการโรงงานประเภทประกอบและซ่อม เครื่องกรองน้ำ โดยใบอนุญาตฯ ได้หมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ซึ่งบริษัทได้มีการต่ออายุใบอนุญาตฯ ดังกล่าวแล้ว โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนนทบุรี ได้มีการอนุญาตให้ต่ออายุไปถึงวันที่ 1 มกราคม 2565
    • โรงงานที่ 2 บริษัทได้รับใบอนุญาตในการประกอบกิจการโรงงานประเภทประกอบและซ่อม เครื่องกรองน้ำจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนนทบุรี ซึ่งใบอนุญาตฯ จะหมดอายุ ณ วันที่ 1 มกราคม 2563 และในปี 2562 มีการแก้ไขพระราชบัญญัติโรงงานส่งผลให้ใบอนุญาตโรงงานที่ 2 มีอายุจนกว่าจะมีการแจ้งเลิกประกอบกิจการโรงงาน
    • โรงงานที่ 3 บริษัทได้รับใบอนุญาตในการประกอบกิจการโรงงานประเภทบดย่อยเศษพลาสติกจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนนทบุรี ซึ่งใบอนุญาตฯ จะหมดอายุ ณ วันที่ 1 มกราคม 2562 ซึ่งบริษัทได้มีการต่อใบอนุญาตฯ ดังกล่าวแล้ว โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนนทบุรี ได้มีการอนุญาตให้ต่ออายุไปถึงวันที่ 1 มกราคม 2567 และใบอนุญาตในการประกอบกิจการโรงงานประเภทซ่อม ประกอบเครื่องทำน้ำอุ่นและเครื่องทำน้ำร้อนจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนนทบุรี ซึ่งใบอนุญาตฯ จะหมดอายุ ณ วันที่ 1 มกราคม 2565
    • โรงงานที่ 4 บริษัทได้รับใบอนุญาตในการประกอบกิจการโรงงานประเภทประกอบ ซ่อม เครื่องกรองน้ำและบดเศษพลาสติก จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ซึ่งใบอนุญาตฯ จะหมดอายุ ณ วันที่ 1 มกราคม 2563 และในปี 2562 มีการแก้ไขพระราชบัญญัติโรงงานส่งผลให้โรงงานที่ 4 มีอายุจนกว่าจะมีการแจ้งเลิกประกอบกิจการโรงงาน

    ทั้งนี้ บริษัทอาจมีความเสี่ยงจากการ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานหากมีการร้องเรียนและ/หรือบริษัทไม่แก้ไขปัญหาที่มีการร้องเรียนได้ อย่างไรก็ตามผู้บริหารของบริษัทเชื่อมั่นว่าจะสามารถประกอบกิจการโรงงานต่อไปได้ เนื่องจากการประกอบผลิตภัณฑ์ไม่สร้างมลพิษใด ๆ และบริษัทยังไม่เคยได้รับการแจ้งตักเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือการร้องเรียนจากผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด

3
ความเสี่ยงด้านการเงิน
  1. ความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อ

    การขายเครื่องกรองน้ำและเครื่องใช้ไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทส่วนใหญ่จะเป็นการขายผ่อนชำระตามสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งคุณภาพของลูกหนี้เช่าซื้อจะเป็นปัจจัยหลักในการรับรู้รายได้ของบริษัท โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 กลุ่มบริษัทมียอดลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อสำหรับเครื่องกรองน้ำที่ค้างชำระเกิน 3 งวด มีสัดส่วนร้อยละ 3.46 สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า ลูกหนี้ที่ค้างชำระเกิน 6 งวด มีสัดส่วนร้อยละ 2.84 ของยอดลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อสินค้าเครื่องกรองน้ำและเครื่องใช้ไฟฟ้าตามลำดับ (หลังหักดอกเบี้ยที่ยังไม่ถือเป็นรายได้และภาษีขายรอตัดบัญชี) ที่ผ่านมาลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายย่อยในระดับล่างถึงกลาง โดยบริษัทกำหนดนโยบายการคัดเลือกลูกค้าที่ผ่อนปรนเพื่อให้กลุ่มลูกค้าดังกล่าวสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการของบริษัทได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทกำหนดนโยบายการตรวจสอบและควบคุมการให้สินเชื่อ รวมทั้งในกรณีที่ลูกหนี้ค้างชำระ บริษัทจะตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับสัดส่วนหนี้สูญในอดีต และหากลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 งวด บริษัทจะหยุดรับรู้รายได้ดอกผลจากการเช่าซื้อทั้งจำนวน รวมทั้งดำเนินการทางกฎหมายโดยออกหนังสือทวงถามไปยังลูกค้า รวม 2 ครั้ง แล้วรอให้มีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้ครบตามมูลค่าคงเหลือตามบัญชี ของลูกหนี้ค้างชำระนั้นแล้วก่อนการตัดลูกหนี้ค้างชำระดังกล่าวเป็นหนี้สูญต่อไป ทั้งนี้จากการที่สินค้าของบริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นในระดับสูง ในปี 2562 อัตรากำไรขั้นต้นร้อยละ 75.00 เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการขาย หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญแล้ว บริษัทยังมีกำไรจากการดำเนินการขายตรงแบบผ่อนชำระในเกณฑ์สูงเพียงพอ โดยในปี 2561 บริษัทและบริษัทย่อยมีอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 6.69

    ทั้งนี้ มาตรการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากลูกหนี้เช่าซื้อซึ่งอาจไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อตกลงในสัญญาของบริษัทสามารถสรุปได้ ดังต่อไปนี้

    • กำหนดคุณสมบัติของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในเบื้องต้น เพื่อเป็นแนวทางที่ชัดเจนแก่ทีมงานขายโดย ต้องผ่านการพิจารณาเบื้องต้นจากพนักงานขาย และหัวหน้าทีมพิจารณาอีกครั้งก่อนทำสัญญา จากนั้นมีการตรวจสอบคุณภาพลูกหนี้ โดยฝ่ายเครดิตประเมินความน่าเชื่อถือของลูกค้าแต่ละรายว่าเหมาะสมกับแผนการผ่อนชำระสินค้า พร้อมทั้งตรวจสอบว่ามีการติดตั้งครบถ้วนหรือไม่ และฝ่ายเครดิตเป็นหน่วยงานที่เก็บค่างวดผ่อนชำระ ทั้งนี้ สำหรับการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นเงินผ่อน จะเป็นการขายผ่านบริษัทย่อยคือ บริษัท เธียรสุรัตน์ ลีสซิ่ง จำกัด (TSRL) โดยจะมีการตรวจสอบเครดิตลูกค้าทุกรายผ่าน Credit Bureau และพนักงาน checker จะตรวจสอบข้อมูลลูกค้าตามหลักเกณฑ์ของบริษัท TSRL อีกขั้นตอนหนึ่ง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบร่วมกันในการพิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ
    • กำหนดการจ่ายผลตอบแทนแก่ทีมพนักงานขาย โดยอ้างอิงจากคุณภาพการขาย และในกรณีที่เกิดหนี้สูญจากการขาย พนักงานขายและผู้บริหารฝ่ายขายที่เกี่ยวข้องจะมีส่วนร่วมรับผิดชอบชำระค่าเสียหายแก่บริษัท เพื่อทดแทนความเสียหายตามหลักเกณฑ์ของบริษัท
    • ในกรณีที่ลูกหนี้เช่าซื้อไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญากับบริษัท บริษัทจะดำเนินการติดตามทวงถามหนี้สินคงค้างจากลูกหนี้ที่ค้างชำระเกินกำหนดโดยแผนกเร่งรัดหนี้สินและฝ่ายกฎหมายของบริษัท รวมทั้งจะดำเนินการถอดเครื่องคืนจากลูกหนี้ดังกล่าว โดยเครื่องกรองน้ำหากเครื่องที่ยึดคืนยังอยู่ในสภาพดี จะถูกส่งไปปรับปรุงสภาพที่โรงงาน และขายให้แก่พนักงานของบริษัท (ยกเว้นพนักงานฝ่ายขาย) ในลักษณะสินค้าตกเกรดในราคาถูกและปรับปรุงเพื่อบริจาค สำหรับสินค้าที่อยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ บริษัทจะทำการถอดชิ้นส่วนโครงสร้างเพื่อบดเป็นเม็ดพลาสติกและจำหน่ายต่อไป สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า เมื่อมีเครื่องจากการยึดคืนบริษัทจะนำมาขายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้ามือสองต่อไป
  2. ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย

    เนื่องจากในการดำเนินธุรกิจของบริษัทส่วนใหญ่เป็นการขายผ่อนชำระ ดังนั้นจึงเกี่ยวข้องกับการบริหารเงินทุนทั้งจากส่วนของผู้ถือหุ้น และส่วนของการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน เพื่อนำมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน ทั้งนี้ การบริหารเงินทุนที่มาจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินมีความเสี่ยงอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของตลาดการเงิน ทั้งในเรื่องของสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยที่บริษัทต้องบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือในการบริหารดังกล่าวบริษัทจะต้องมีการติดต่อประสานงานกับสถาบันการเงิน อันได้แก่ ธนาคารต่างๆ เพื่อขอวงเงินสินเชื่อไว้รองรับการขยายตัวของธุรกิจ พร้อมทั้งบริหารระยะเวลาการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน และระยะเวลาการผ่อนชำระ (Matching Funds) ให้อยู่ในช่วงระยะเดียวกันเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของตลาดการเงิน กรณีตลาดมีการปรับอัตราดอกเบี้ย บริษัทสามารถปรับอัตราดอกเบี้ยในสัญญาเช่าซื้อใหม่ไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ ในปี 2562 ที่ผ่านมาบริษัทมีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพียงเล็กน้อยเนื่องจากบริษัทสามารถบริหารสภาพคล่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งบริษัทได้รับการอนุมัติวงเงินสินเชื่อ (Credit Facilities) โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Clean Loans Basis) สำหรับการขยายธุรกิจจากสถาบันการเงินอีกด้วย

4
ความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อสิทธิหรือการลงทุนของผู้ถือหลักทรัพย์

ความเสี่ยงจากการมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีอำนาจกำหนดนโยบายการบริหาร

บริษัทมีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้แก่ กลุ่มแจ้งอยู่ (รายละเอียดเพิ่มเติมใน: ข้อมูลหลักทรัพย์และผู้ถือหุ้น) โดย ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2562 ถือหุ้นรวมกันในบริษัทจำนวน 353,248,654 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.26 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท จึงทำให้กลุ่มแจ้งอยู่ สามารถควบคุมมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้เกือบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งตั้งกรรมการ หรือขอมติในเรื่องอื่นที่ต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ยกเว้นเรื่องกฎหมายหรือข้อบังคับบริษัทกำหนดต้องให้ได้รับเสียงสามในสี่ (3 ใน 4) ของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ดังนั้น ผู้ถือหุ้นรายอื่นจึงอาจไม่สามารถรวบรวมคะแนนเสียงเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลเรื่องที่ผู้ถือหุ้นใหญ่เสนอได้ ซึ่งบริษัทได้ตระหนักถึงประเด็นความเสี่ยงดังกล่าวจึงได้จัดโครงสร้างการจัดการซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งประกอบไปด้วยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ โดยมีการแต่งตั้งบุคคลภายนอกที่เป็นอิสระเข้าร่วมในคณะกรรมการบริษัท จำนวน 6 ท่าน จากจำนวนกรรมการทั้งหมด 11 ท่าน โดยกรรมการอิสระจำนวน 4 ท่าน รับหน้าที่เป็นคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ และพิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับความสมเหตุสมผลในการทำรายการระหว่างกัน ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นต่อไป


Please read our General Disclaimer & Warning carefully.
Use of this Website constitutes acceptance of the Terms of Website Use.
Copyright © 2024. ThaiListedCompany.com. All Rights Reserved.